ในการสอบรับราชการสำหรับสอบครูผู้ช่วย หรือสอบผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องใช้ความรู้เรื่องการวัดและประเมินผลทางการศึกษา ไปสอบบ่อยครั้ง วันนี้บ้านของครู MR.KRON จึงได้สรุปความรู้เรื่องการวัดผลและการประเมินผล ในแบบที่เข้าใจง่ายและตรงประเด็นเนื้อหา พร้อมตัวอย่างข้อสอบจริง ในวิชาการศึกษาประกอบแทรกในเนื้อหา อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนด้วยครับเรื่อง การวัดผลทางการศึกษา
ความแตกต่างของการวัดกับประเมินผล
ความหมายของการวัดผล
การวัดผล หมายถึง กระบวนการใดๆก็ตามที่จะได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปริมาณ คุณภาพ โดยอาศัยเครื่องมือช่วยวัด มักออกมาเป็นตัวเลขและหน่วยกำกับ
ตัวอย่างของการวัดผล
- MR.KRON สอบได้ 75 คะแนน โดยใช้แบบทดสอบ
- ครูกรชั่งน้ำหนักได้ 45 กิโลกรัม
องค์ประกอบของการวัดผล
=>องค์ประกอบของการวัด 3 ประการ
1) ปัญหาหรือสิ่งที่จะวัด
2) เครื่องมือวัดหรือเทคนิควิธีในการรวบรวมข้อมูล
3) ข้อมูลเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ
=> หากเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ
– จะต้องมีจำนวนและหน่วยวัด
=>หากเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ
– จะต้องมีรายละเอียดที่แสดงคุณลักษณะซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลข
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
การวัดผล คืออะไร………………………
ตอบ____________________
ความหมายของการประเมินผล
การประเมินผล หมายถึง กระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผลแล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลวเก่งหรือ อ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
ตัวอย่างการประเมินผล
- ครูกรเป็นคนหน้าตาดี
- MR.KRON สอบรายวิชาฟิสิกส์ได้เกรด 4

องค์ประกอบของการประเมินผล 3 ประการ
1) ข้อมูลที่ได้จากการวัดผล
2) เกณฑ์การประเมิน
3) การตัดสินคุณค่าหรือการตัดสินใจ

การวัดและประเมินผลทางการศึกษา
จุดมุ่งหมายการวัดผลทางการศึกษา
1) การวัดและประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน
2) การวัดและประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน
ธรรมชาติของการวัดผลทางการศึกษา
1) การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม
- ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สติปัญญา ความถนัด ความสนใจ บุคลิกภาพ เจตคติ ของผู้เรียนนั้น มีลักษณะเป็นสภาพทางจิตวิทยาในตัวนักเรียน เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง ไม่สามารถสังเกตเห็นหรือสัมผัสได้
- วิธีการตรวจวัดจึงเริ่มโดยการแปลงคุณลักษณะนั้นออกมาเป็นพฤติกรรมที่วัดได้ สังเกตได้ จากนั้นจึงใช้เครื่องมือเป็นสิ่งเร้าแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนตอบสนองโดยแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา ผู้สอนจึงสามารถตรวจวัดพฤติกรรมนั้นๆ ได้ในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพแล้วแต่กรณี
- ผลที่ได้ผู้สอนจะนำไป อ้างอิงสรุปกลับไปยังคุณลักษณะที่ประสงค์จะตรวจสอบนั้นอีกครั้ง เราจึงกล่าวว่าการวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม
2) การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์
- การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นการจัดตามเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตรระดับชั้นต่างๆ
- เนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนจะมีอยู่มากมาย
- ผู้ที่ทำหน้าที่วัดผลและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคงไม่สามารถตรวจวัดหรือทดสอบให้ครอบคลุม
- เนื่องจากข้อจำกัดของเวลา งบประมาณ ค่าใช้จ่าย และสภาพการณ์ที่เป็นจริง
- ในทางปฏิบัตินั้นครูจะเลือกข้อสอบบางข้อที่เป็นตัวแทนของเนื้อหาและจุดมุ่งหมาย
- ดังนั้นการวัดผลการศึกษาจึงเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ไม่ครบถ้วนทั้งหมด
3) การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดเชิงปริมาณ และการประมินผลแสดงเชิงคุณภาพ
- การวัดผล ที่ใช้เครื่องมือเพื่อตรวจวัดคุณลักษณะที่ต้องการจะแสดงผลในรูปของจำนวนหรือตัวเลข คือคะแนน(Score) จากแบบทดสอบ
- การประเมินผล จะแสดงในเชิงคุณภาพ เช่น ผ่าน ไม่ผ่าน หรือประเมินเป็นระดับคะแนน A B C D E (ดีมาก ดี ปานกลาง ควรปรับปรุง ต้องแก้ไข)
4) การวัดผลการศึกษาเป็นสิ่งสัมพัทธ์
การวัดผล การศึกษานั้นข้อมูลหรือคะแนนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่มีความหมายใดๆมากนัก เช่น MR.KRON สอบวิชาชีววิทยาได้ 30 คะแนน ไม่สามารถบอกได้ว่าคะแนนมาก-น้อย เก่ง-อ่อนเพียงใด แต่ถ้าหากจะให้คะแนนนี้มีความหมายต้องนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลอย่างอื่น ซึ่งโดยทั่วไปนิยมนำไปเปรียบเทียบ 3 แบบคือ
(1) นำคะแนนที่ได้ไปเปรียบเทียบกับคะแนนเต็ม
- เรียกว่า ระบบเปอร์เซ็นต์ เช่น สกินเนอร์สอบได้ 20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน หรือได้ 40 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าทำได้คะแนนค่อนข้างน้อย
(2) นำคะแนนที่ได้เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม
- เรียกว่า ระบบเป็นกลุ่ม เช่น MR.KRON สอบได้ 20 คะแนนคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มเท่ากับ 15 คะแนน แสดงว่า MR.KRON ทำคะแนนได้ค่อนข้างสูงกว่าความสามารถของกลุ่ม
(3) นำคะแนนที่ได้เปรียบ นำคะแนนที่ได้เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น
- เรียกว่า ระบบอิงเกณฑ์ เช่น แดงสอบได้ 19 คะแนน ผู้สอนตั้งเกณฑ์การผ่านไว้ว่า ต้องได้ตั้งแต่ 15 คะแนนขึ้นไปแสดงว่าทำคะแนนได้ผ่านเกณฑ์
5) การวัดผลเป็นกระบวนการที่มีความคลาดเคลื่อน
การวัดผลทางการศึกษาเป็นการวัดด้านจิตวิทยาซึ่งมีตัวแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้องมาก โอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน (Error) หรือความผิดพลาดซึ่งมีอยู่สูง เนื่องจากผู้ดำเนินการวัดผลไม่สามารถควบคุมตัวแปรต่างๆ ได้ครบถ้วน
ดังนั้นคะแนนที่ได้จากการวัดจะเป็นผลรวมของคะแนน 2 ส่วนคือคะแนนที่แท้จริง (True Score) กับคะแนนที่คลาดเคลื่อน(Error Score) โดยคะแนนที่คลาดเคลื่อนนี้อาจเป็นไปในทางบวกหรือทางลบก็ได้
สาเหตุความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการวัดผล
(1) เครื่องมือที่ใช้วัดขาดความสมบูรณ์วัดไม่ตรงคุณลักษณะที่ต้องการ
(2) ผู้จัดดำเนินการวัดผลขาดความชำนาญในการวัดผล
(3) ความผันแปรของผู้เข้าทดสอบขณะสอบ
(4) ความคลาดเคลื่อนในการคิดคำนวณในการรวมหรือกรอกคะแนน
(5) ความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่างเนื้อหาและพฤติกรรมไม่ถูกต้องตามหลักวิชา
6) การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่มีศูนย์แท้
=>การวัดทางกายภาพ
- การวัดทางกายภาพมีศูนย์แท้
- เช่น ตู้สูง 0 เมตร แสดงว่าไม่มีความสูงเลย ทีวีสูง 70 เซนติเมตร ก็สามารถบอกได้ทันทีว่ามีค่าเท่าไหร่
=>การวัดผลทางการศึกษา
- การวัดผลทางการศึกษาไม่มีศูนย์แท้มีแต่ศูนย์สมมติ
- เช่น นักเรียนสอบวิชาการพูดภาษาไทยได้ 0 คะแนน ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความรู้ในการพูดเลย
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูกรณีพิเศษ 1/59)
ข้อใดไม่ใช่ธรรมชาติของการวัดและประเมินผล
ก. เป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์
ข. มีความคลาดเคลื่อน
ค. เป็นการวัดทางอ้อม
ง. การวัดครั้งแรกจะมีค่าใกล้เคียงที่สุด
ตอบ ง. การวัดครั้งแรกจะมีค่าใกล้เคียงที่สุด

หลักการวัดและประเมินผลทางการศึกษา
=>หลักการวัดและประเมินผลทางการศึกษาโดยทั่วไป
1. วัดให้ตรงกับวัตถุประสงค์
2. ใช้เครื่องมือที่ดีมีคุณภาพ
3. มีความยุติธรรม
4. แปลผลได้ถูกต้อง
5. ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า
=>หลักการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร
– จุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียน และตัดสินผลการเรียน
– การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องสอดคล้องและครอบคลุมมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด
– การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอน
– การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องดำเนินการด้วยเทคนิควิธีการที่หลากหลาย
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 58)
การวัดผลและประเมินผล เพื่ออะไร
ตอบ พัฒนาผู้เรียน และตัดสินผลการเรียน
(ข้อสอบครูกรณีพิเศษ 2/58)
การวัดผลและประเมินผลทำเพื่อจุดหมายใด
ตอบ พัฒนาผู้เรียน และตัดสินผลการเรียน
จุดหมายการวัดและประเมินผล
1. วัดผลเพื่อและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน
- เพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องไหน
- ครูจะสามารถพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้ดีขึ้น
2. วัดผลเพื่อวินิจฉัย
- เพื่อค้นหาจุดบกพร่องของนักเรียนที่มีปัญหาว่ายังไม่เกิดการเรียนรู้ตรงจุดใดเพื่อหาทางช่วยเหลือ
3. วัดผลเพื่อจัดอันดับ
- เพื่อจัดอันดับความสามารถของนักเรียนในกลุ่มเดียวกันว่าใครเก่งกว่า
- ใครควรได้อันที่ 1 2 3
4. วัดผลเพื่อเปรียบเทียบ
- เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียนหลังเรียนจบ
- เช่น การทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียนแล้วนำผลมาเปรียบเทียบกัน
5. วัดผลเพื่อพยากรณ์
- เพื่อทำนายว่า เด็กคนไหนเหมาะกับการเรียนต่ออะไรจึงจะ ไม่ถูกออกกลางคัน หรือประกอบอาชีพอะไรจึงจะประสบความสำเร็จ
6. วัดผลเพื่อประเมินผล
- เพื่อนำผลที่ได้มาตัดสินหรือสรุปคุณภาพของการจัดการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพสูงหรือต่ำ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
ปรัชญาของการวัดและประเมินผล
ชวาล แพรัตกุล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการวัดผลของไทย ได้ให้ความหมายปรัชญาของการวัดและประเมินผลการศึกษา ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการศึกษาว่า
“ทดสอบเพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของมนุษย์”
ชวาล แพรัตกุล บิดาแห่งการวัดผลของไทย
ระดับของมาตรการในการวัด
ระดับของมาตรการวัด แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1
มาตรการวัดระดับนามบัญญัติ(Nominal Scale)
- ตัวเลขในระดับนามบัญญัติไม่สามารถนำมาบวก ลบ คูณ หาร หรือหาสัดส่วนได้
- เช่น เพศชาย ใช้ เลข1 เพศหญิงใช้เลข 2 เป็นต้น
ระดับที่ 2
มาตรการวัดระดับเรียงอันดับ (Ordinal Scales)
- ตัวเลขที่บอกความหมายในลักษณะมาก-น้อย สูง-ต่ำ เก่ง-อ่อน กว่ากัน
- ตัวเลขอันดับที่แตกต่างกันไม่สามารถบ่งบอกถึงปริมาณความแตกต่างได้
- เช่น ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ที่ประกวดร้องเพลงได้รางวัลที่ 1 มีความเก่งมากกว่าผู้ที่ได้รางวัลที่ 2 ในปริมาณเท่าใด
- ตัวเลขในระดับนี้สามารถนำมาบวกหรือลบกันได้
ระดับที่ 3
มาตรการวัดระดับช่วง (Interval Scale)
- ไม่มี 0 (ศูนย์)แท้
- มีแต่ 0 (ศูนย์)สมมติ
- เช่น อุณหภูมิ 0 องศา มิได้หมายความว่าจะไม่มีความร้อน เพียงแต่มีความร้อนเป็น 0 องศาเท่านั้น
- ตัวเลขในระดับนี้สามารถนำมาบวก ลบ คูณ หรือหารกันได้
ระดับที่ 4
มาตรการวัดระดับอัตราส่วน (Ratio Scale)
- เป็นระดับที่สามารถกำหนดค่าตัวเลขให้กับสิ่งที่ต้องการวัด
- มี 0 (ศูนย์)แท้
- ระดับนี้สามารถนำตัวเลขมาบวก ลบ คูณ หาร หรือหาอัตราส่วนกันได้
- สามารถบอกได้ว่า ถนนสายหนึ่งยาว 50 กิโลเมตร ยาวเป็น 2 เท่าของถนนอีกสายหนึ่งที่ยาวเพียง 25 กิโลเมตร

นิยามศัพท์ การวัดและประเมินผล การเรียนรู้
ตามหลักสูตรแกนกลาง
การวัดและประเมินผล
- เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล ร่องรอย หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
- เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ
- การวัดและประเมินผลการเรียนรู้สามารถจัดให้มีขึ้นทั้งระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ
การประเมินการปฏิบัติ
- ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Performance assessment
- เป็นการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ความสามารถด้วยการปฏิบัติหรือผลิตผลงานรูปแบบที่ใช้ในการประเมินการปฏิบัติมีหลายรูปแบบ
- เช่น การอภิปราย การออกแบบ การทดลอง การทำโครงงานการทำชิ้นงาน ภาระงาน การสาธิต เป็นต้น
การประเมินตามสภาพจริง
- ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Authentic assessment
- เป็นการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จากการที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติงาน
- ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำความรู้และทักษะที่เรียนไปใช้ในสภาพและสถานการณ์จริง
- เชื่อมโยงใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากที่สุด
- มักมีการกำหนดชิ้นงานหรือภาระงานให้ผู้เรียนปฏิบัติ และมีการใช้เครื่องมือการวัดและประเมินผลที่มีเกณฑ์ พร้อมทั้งคำอธิบายคุณภาพงานตามเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจน
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูกทม. 59)
Authentic Assessment คืออะไร
ตอบ การประเมินตามสภาพจริง
การประเมินผลย่อย
- ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Formative assessment
- เป็นการประเมินผลระหว่างการเรียน
- ทำให้ทราบว่าพัฒนาการของผู้เรียนอยู่ในขั้นใด มีจุดดีหรือบกพร่องใดที่ต้องเสริมสร้างให้ดีขึ้น
- การประเมินผลลักษณะนี้ควรกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาปรับปรุงการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและพัฒนาไปสู่คุณภาพตามมาตรฐาน
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
สอบวัดประเมินความก้าวหน้าหรือสอบย่อย จุดประสงค์เพื่ออะไร
ตอบ เพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขในการเรียนการสอน
การประเมินผลรวม
- ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Summative assessment
- การประเมินผลการเรียนรู้เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละหน่วยหรือแต่ละรายวิชาเพื่อศึกษาว่านักเรียนมีความรู้เพียงใด หรือมีจุดอ่อนที่ใดจะต้องปรับปรุงแก้ไขโดยเทียบเคียงกับระดับคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด
รูบริค(Rubric)
- ใช้เกณฑ์การให้คะแนน(Scoring rubrics) เป็นแนวการให้คะแนนซึ่งสามารถแยกแยะระดับต่างๆ ของความสำเร็จในการเรียน หรือการปฏิบัติงานของนักเรียนได้อย่างชัดเจน
- มีระดับการให้คะแนนตั้งแต่ต้องแก้ไขปรับปรุง ถึงระดับดีมาก
- เกณฑ์ มีระดับสเกลชัดเจนในการให้คะแนน เช่น 5, 4, 3, 2, 1, 0
- ช่วยให้การประเมินผลมีความชัดเจนเที่ยงตรง และเชื่อมโยงสัมพันธ์กับมาตรฐานการเรียนรู้
ประเภทของรูบริค(rubric)
1.รูบริคแบบองค์รวมหรือภาพรวม (holistic scoring rubric)
– เป็นเกณฑ์การให้คะแนนการปฏิบัติ/ผลงาน โดยพิจารณาภาพรวมของการ ปฏิบัติ/ผลงาน ที่มีการบรรยายคุณภาพลดหลั่นตามระดับคุณภาพ
2.รูบริคแบบแยกองค์ประกอบ (analytic scoring rubric)
– เป็นเกณฑ์การให้คะแนนการปฏิบัติ/ผลงาน โดยพิจารณาคุณภาพของชิ้นงานเป็นรายองค์ประกอบหรือรายมิติ ที่มีการบรรยายคุณภาพลดหลั่นตามระดับ คุณภาพ
– เหมาะสำหรับการประเมินความก้าวหน้าที่ต้องการให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback)เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงและพัฒนา
ความสำคัญของรูบริค(rubric)
– ในการประเมินผู้เรียนโดยการประเมินตามสภาพจริงที่เน้นปฏิบัตินั้น ไม่มีคำตอบเฉลย ที่ตายตัวเหมือนกับแบบทดสอบแบบเลือกตอบ
– ซึ่งการประเมินชิ้นงานของผู้เรียนที่ได้ลงมือปฏิบัติ ครูจะทำการประเมินคุณภาพให้เป็นปรนัยเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำได้จึงมีการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบ รูบริคขึ้นมา
– ไม่เหมาะกับการนำไปใช้เป็นเกณฑ์ของแบบทดสอบปรนัย
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 58)
การประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมหรือชิ้นงานโดยมีเกณฑ์ 5, 4, 3, 2, 1, 0 เป็นเกณฑ์การประเมินแบบใด
ตอบ รูบริค(rubric)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 58)
เกณฑ์การประเมินแบบรูบริคไม่ควรให้คะแนนในเรื่องใด
ตอบ แบบทดสอบข้อปรนัย
การวัดและประเมินผล อิงมาตรฐาน
- การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จทางการเรียน โดยเทียบเคียงกับคุณภาพที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้
- ในระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเป็นเป้าหมายนั้น การวัดและประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งระดับชั้นเรียนระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติต้องเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของผู้เรียนเมื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานอย่างชัดเจน
หน่วยกิต (Credit)
- ค่าน้ำหนักที่กำหนดสำหรับการเรียนแต่ละรายวิชา โดยคิดจากระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อบรรลุมาตรฐานหรือผลการเรียนรู้ที่ตั้งไว้สำหรับรายวิชานั้น
- รายวิชาที่ใช้เวลาในการเรียนการสอน 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
การประเมินผลระดับชั้นเรียน
- การวัดและประเมินผลที่ควบคู่ไปในกระบวนการการเรียนการสอน
- ครูผู้สอนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าด้านความรู้ทักษะ คุณธรรม ค่านิยม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมการเรียนการสอนหรือไม่เพียงใด
- การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนควรเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาและประเมินตามสภาพจริง โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย และมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง
การประเมินผลระดับเขตพื้นที่การศึกษา
- เป็นการวัดและประเมินผลที่ดำเนินการโดยเขตพื้นที่การศึกษา
- เพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนในโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง
- โดยมีการรายงานผลแก่สถานศึกษาและชุมชนได้รับทราบ
- เพื่อให้ทราบว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียน
- ได้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดหรือไม่เพียงใด
- หากมีข้อบกพร่องใดก็จะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
การประเมินคุณภาพระดับชาติ
- การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ดำเนินการโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับชาติ
- ประเมินผู้เรียนที่เรียนอยู่ในชั้นปีสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น ได้แก่
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สอบ RT
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สอบ NT
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอบ O-NET
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบ O-NET
- และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบ O-NET
- เพื่อให้ทราบว่าสถานศึกษาแต่ละแห่ง สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้บรรลุคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดที่กำหนดหรือไม่ และมีสิ่งใดจะต้องปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ได้จากการประเมินจะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่งต่อไป
การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน
- ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า PORTFOLIO ASSESSMENT
- การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน เป็นการประเมินผลพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนตามสภาพที่แท้จริง
- ผลงานชิ้นต่างๆ ที่รวบรวมได้นั้นแสดงถึงความรู้ ความสามารถ ความพยายาม เจตคติ และความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียน
- ครูใช้แฟ้มผลงานเป็นที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนและใช้เป็นสิ่งกระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนความคิด ความรู้สึกที่เกิดจากการทำงาน และค้นพบความก้าวหน้าของตนเอง
- ใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองให้ได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าเกี่ยวกับพัฒนาการ การเรียนรู้ของนักเรียน
- วัตถุประสงค์ของแฟ้มผลงาน
- เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการและการเรียนรู้ของนักเรียน
- เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการทำงาน หรือความพยายามของนักเรียน
- เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินพิจารณาความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นรายบุคคล
- เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ปกครองในเรื่องเกี่ยวกับนักเรียน
- สร้างความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนในการพัฒนานักเรียน
ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
จุดมุ่งหมายในการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานคืออะไร
ก. ตัดสินผลการเรียน
ข. ดูผลงานทั้งหมด
ค. ดูผลงานเด่นของนักเรียน
ง. ดูพัฒนาการของผู้เรียน
ตอบ ง. ดูพัฒนาการของผู้เรียน
บทสรุป
เราได้ทำการกลั่นกรองเนื้อหา การวัดและประเมินผลทางการศึกษา จุดหมายของบทความนี้เพื่อ ช่วยให้ผู้ที่เตรียมสอบรับราชการครูได้รับความรู้ตรงประเด็น ซึ่งบทความนี้สร้างขึ้นจากผู้มีประสบการสอบโดยตรงซึ่งแต่ละเนื้อหาได้แกะประเด็นมาจากข้อสอบจริงทั้งสิ้น เชื่อว่าบทความนี้ได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญมากพอสมควรและหากชอบแนวการสรุปอย่าลืมสนับสนุนพวกเราด้วยการแชร์ต่อให้เพื่อน และเลี้ยงกาแฟพวกเราได้ที่พร้อมเพย์ด้านล่าง
ถ้าหากอยากสนับสนุน
บ้านของครู MR.KRON
สามารถเลี้ยงกาแฟพวกเราได้ที่ บัญชีพร้อมเพย์ด้านล่างนี้นะครับ 10 บาท 20 บาทไม่มีขั้นต่ำ
พร้อมเพย์ 095-1753111

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุน เพื่อเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ต่อไป
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
ติดตามช่องทางyoutube