หลักสูตร EP.1 กระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการพัฒนา หลักสูตร

การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน

ในการเตรียมตัวสอบ ครูผู้ช่วยในปี 2563 เป็นต้นไป มีเกณฑ์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง ดังนั้น บ้านของครู MR.KRON จึงได้ทำสรุปให้น้องๆเพื่อเป็นแนวทางในการอ่านหนังสือ ในฉบับบรรจุได้โดยไม่ต้องเสียเงิน

ความหมายหลักสูตร

คำว่า หลักสูตร ในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ว่า “currere”  ซึ่งหมายถึง “race – coure” แปลเป็นไทยว่า เส้นทางใช้วิ่งแข่งขัน หรือลู่วิ่ง ในสมัยก่อนประเทศไทยใช้คำว่าหลักสูตรในภาษาอังกฤษว่า Syllabus ซึ่งปรากฏใน หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย พุทธศักราช 2503 โดยใช้ฉบับภาษาอังกฤษว่า “Syllabus for Lower Secondary Education B.E. 2503”

คำว่า Syllabus ใช้คำภาษาไทยว่า “ประมวลรายวิชา” ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “Curriculum” แทน โดยปรากฏในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lower Secondary School Curriculum B.E. 2521 (Revised Edition B.E. 2533)”และมีการปรับหลักสูตรของชาติ 2 ครั้ง โดยใช้คำว่า  “Curriculum” จนถึงปัจจุบัน

ในปีพุทธศักราช  2544 ปรับเป็น “หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544” ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “Basic Education Curriculum2001”

และปัจจุบันใช้ “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “The Basic Education Core Curriculum  B.E. 2551 (A.D. 2008)”

นิยามความหมายหลักสูตรจากนักการศึกษาที่นิยมออกข้อสอบครูผู้ช่วยบ่อย

เนื่องจากมีผู้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้เยอะพอสมควรและข้อสอบสามารถถามได้กว้างพอสมควร ท่านจึงควรทราบความหมายจากนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ไว้ด้วย เพราะบางครั้ง เขานำไปออกเป็นข้อสอบครูผู้ช่วยในบางครั้ง

ไทเลอร์ (Tyler) ได้สรุปว่า หลักสูตรเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา

กู๊ด (Good) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ

    1. เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เพื่อสำเร็จหรือรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง

    2. เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป

    3. กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การแนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา

ทาบา (Taba) กล่าวว่า หลักสูตร  หมายถึง  วิธีการเตรียมเยาวชนให้มีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นสมาชิกที่สามารถสร้างผลผลิตให้แก่สังคมของเรา

วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554 : 6) ได้ให้ความหมายหลักสูตร ใน 2 ความหมาย คือ
. 1) ความหมาย แคบของหลักสูตร คือ วิชาที่สอน
. 2) ความหมายที่กว้างของหลักสูตร คือ มวลประสบการณ์ ทั้งหลายที่จัดให้ผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม

สรุปหลักสูตร 

. สรุปหลักสูตร หมายถึง ประมวลความรู้และประสบการณ์ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถทักษะ และคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร

. หลักสูตร จึงเป็นเสมือนแผนที่ ใช้กำหนดทิศทางในการพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ และมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนในการพัฒนาความรู้ไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด


วิเคราะห์ชี้ประเด็นข้อสอบจริงกับ บ้านของครู MR.KRON

(ข้อสอบจริงครู กทม.59)หลักสูตรมีรากศัพท์มาจากภาษาใด
ตอบ ภาษาละติน(ตัวที่ใช้หลอกภาษาบาลี)

(ข้อสอบครูกรณีพิเศษ 60)ข้อใดอธิบายความหมายของหลักสูตรได้ถูกต้องที่สุด

ตอบ ……………………

(ข้อสอบครู สพฐ. 2559) ข้อใดคือความหมายของหลักสูตร
. ก.  ความรู้ ทักษะกระบวนการที่จัดให้ผู้เรียนทุกคนในโรงเรียนเท่ากัน           
. ข. ความรู้ของครูทั้งมวลที่จัดให้ผู้เรียน
. ค. ประสบการณ์ทั้งมวลที่โรงเรียนจัดให้ผู้เรียน***(เฉลย ค)               
. ง. ประสบการณ์ในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 


ลักษณะของหลักสูตรที่ดี

เนื่องจากลักษณะของหลักสูตรที่ดี เคยออกข้อสอบในสนามสอบครู กทม.ปี 2559 จึงจำเป็นที่จะต้องทราบไว้ด้วย อาจเจอในข้อสอบอื่นๆหรือ ปรับไปเป็นความรู้เชิงวิเคราะห์ เราได้รวบรวมข้อมูบความรู้ไว้ดังนี้

. 1) มีความคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพต่างๆ ได้เป็นอย่างดี***
. 2) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนการสอนบรรลุตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้
. 3) ได้รับการจัดทำหรือพัฒนาจากบุคคลหลายฝ่าย
. 4) ต้องมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง
. 5) การพัฒนาหลักสูตรควรคำนึงถึงข้อมูลพื้นฐาน เช่น ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยา การเรียนรู้และพื้นฐานของสังคม
. 6) ควรมีเนื้อหาสาระเรื่องที่สอนบริบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนคิดเป็นทำเป็นและมีการพัฒนาในทุกด้าน
. 7) จัดให้ตรงความมุ่งหมายของการศึกษาแห่งชาติ
. 8) ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์
. 9) มีการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้และเจตคติให้กับผู้เรียน
. 10) มีลักษณะสนองความต้องการและความสนใจทั้งของผู้เรียนและสังคม
. 11) บอกแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
. 12) ชี้แนะเกี่ยวกับสื่อการสอนได้อย่างเหมาะสม
. 13) บอกแนวทางการจัดและประเมินการสอน


วิเคราะห์ชี้ประเด็นข้อสอบจริงครูผู้ช่วย โดยบ้านของครู MR.KRON
(ข้อสอบจริงครู กทม.59) ข้อใดคือลักษณะของหลักสูตรที่ดี
ตอบ คล่องตัวยืดหยุ่น


การร่างหลักสูตร

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้นตอน ดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ ได้แก่

1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและความต้องการของชุมชน
1.2 การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียน
1.3 การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง

ขั้นที่ 2 การร่างหลักสูตร
2.1 การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร
2.2 การกำหนดเนื้อหาสาระ
2.3 การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมและสื่อต่างๆ
2.4 การกำหนดวิธีวัดและประเมินผลผู้เรียน

ขั้นที่ 3 การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร
ขั้นที่ 4 การนำหลักสูตรไปใช้
ขั้นที่ 5 การประเมินผลหลักสูตร

การตรวจก่อนใช้หลักสูตร

  • เป็นการตรวจร่างหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้
  • มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เมื่อนำไปใช้จริงจะได้ผลและบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
  • วิธีตรวจสอบทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น
    • ใช้การประชุมสัมมนา โดยให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ มาตรวจสอบโดยใช้เทคนิค เดลฟาย (Delphi technique)
    • การทดลองใช้หลักสูตรนำร่อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของหลักสูตรในการปฏิบัติจริง
    • มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทดลองใช้หลักสูตรแต่ละระยะอย่างมีระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาสังเคราะห์ สำหรับการปรับแก้ก่อนจะนำไปใช้

ขั้นตอนการตรวจร่างหลักสูตร

การตรวจร่างหลักสูตร มีขั้นตอน 4 ขั้นตอน ได้แก่

1. สิ่งที่กำหนดหลักสูตร
คือการเตรียมการศึกษาข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก จุดเริ่มการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก อาจเริ่มจากคณะกรรมการชุดหนึ่งทำการศึกษาเอกสารวิชาการ ตำรา ที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะร่างขึ้น เพื่อทราบข้อเท็จจริงหลาย ๆ อย่างเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ต้องทราบสภาพในปัจจุบัน แนวโน้มของสังคม สภาพปัญหา ความต้องการในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ควรได้มาด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือมากกว่าอาศัยประสบการณ์ของคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการกำหนดหลักสูตรแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
1.1 สิ่งกำหนดทางวิชาการของวิชา
1.2 สิ่งกำหนดทางสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ
1.3 สิ่งกำหนดทางการเมือง/นโยบาย

2. รูปแบบหลักสูตร
เมื่อคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก ประการต่อมาคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเลือก เช่น หลักสูตรแบบรายวิชา หลักสูตรแบบบูรณาการ หลักสูตรแบบแกนวิชา เป็นต้น รูปแบบหลักสูตรโดยส่วนรวมจะประกอบด้วย โครงสร้าง และองค์ประกอบหลักสูตรซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพรวมและมาตรฐานการศึกษาของแต่ละหลักสูตร มาตรฐานการศึกษาอาจจะดูได้จากโครงสร้างหลักสูตรซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) โครงสร้างแบบรายปี 2)โครงสร้างแบบหน่วยกิต

3. การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร
เมื่อคณะกรรมการร่างหลักสูตรรายวิชาเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำหลักสูตรรายวิชาเลือกไปใช้ จะต้องตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ พร้องทั้งปรับปรุงแก้ไขบางส่วนก่อนนำไปใช้จริง การตรวจคุณภาพหลักสูตรทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การประชุมสัมมนา โดยให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นตรวจสอบ นอกจากวิธีตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรโดยใช้เทคนิค เดลฟาย (Delphi technique) การทดลองใช้หลักสูตรนำร่อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของหลักสูตร รวมทั้งมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทดลองใช้หลักสูตรรายวิชาเลือกแต่ละระยะอย่างมีระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาสังเคราะห์ สำหรับการปรับแก้ก่อนจะนำไปใช้ต่อไป

4. การปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้
การปรับแก้หลักสูตรรายวิชาเลือก จะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่ชัดเจนจะทำให้การปรับแก้ไขหลักสูตรมีความเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ การสังเคราะห์ข้อมูล ควรทบทวนพิจารณาให้รอบครอบว่าข้อมูลนี้จะนำไปใช้ปรับแก้ไขในส่วนใดของหลักสูตรและเมือปรับแก้แล้วไปกระทบหลักการและโครงสร้างของหลักสูตรมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการชี้ทางปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่

การตรวจก่อนใช้หลักสูตร

การตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร เมื่อร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำไปใช้กับนักเรียน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรก่อน เพื่อหาข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุด สิ่งที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรคือ ความสอดคล้องขององค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ จุดประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ วิธีวัดและประเมินผลผู้เรียน ซึ่งวิธีการตรวจสอบกระทำได้โดย
1. คณะทำงานร่างหลักสูตร
เป็นกลุ่มบุคคลที่พัฒนาหลักสูตรขึ้นมา เช่น คณะครู ผู้บริหารผู้ปกครอง คนในชุมชน เป็นผู้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

2. ผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านเนื้อหาสาระ ด้านสื่อการเรียนรู้ ด้านหลักสูตรและการสอน เป็นผู้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

3. การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะของการจัดประชุม/สัมมนา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำสู่การปรับปรุงหลักสูตร

การปรับปรุงหลักสูตร

หลังจากมีการตรวจสอบก่อนการใช้หลักสูตรแล้วจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ตรวจสอบเพื่อขั้นตอนต่อไปคือการนำไปใช่จริง

การนำหลักสูตรไปใช้

การนำหลักสูตรไปใช้ หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรละปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรที่ร่างขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก

ครูที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการพัฒนาหลักสูตรเป็นผู้นำหลักสูตรไปใช้ ด้วยการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ครูกำหนดวิธีการจัดการเรียนการสอน กำหนดรายละเอียดกิจกรรมในแต่ละคาบ พร้อมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การประสานงานกับบุคคลที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน การนำหลักสูตรไปใช้  สิ่ง ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแรกคือ จุดประสงค์ของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น

การประเมินผลหลักสูตร

เป็นการตัดสินคุณค่าของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ผลจากการรวบรวมข้อมูลในแง่มุมต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าหลักสูตรมีผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงใด สิ่งใดที่ควรต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้หลักสูตรดียิ่งขึ้น


หากคุณร่วมแลกเปลี่ยนเรามีกลุ่มตีแตกข้อสอบครูผู้ช่วย มีความลับแนวข้อสอบดีๆ ให้ฟรี

ตีแตก ข้อสอบครูผู้ช่วย MR.KRON

▶ ช่องทางการติดตาม

📌 facebook บ้านของครู MR.KRON
📌 YOUTUBE บ้านของครู MR.KRON
📌 Line official

หากต้องการฝึกทำข้อสอบฟรีเกี่ยวกับหลักสูตรเชิญทำได้ที่ลิ้งด้านล่าง

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรชุดที่ 1

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรชุดที่ 2

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรชุดที่ 3

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรชุดที่ 4

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตรชุดที่ 5