มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวเปิดรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2562 ณ หอสมุดคุรุสภา
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อเชิดชูการทำงานของครู โดยครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลมาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง
โดยของพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ มีกำหนดพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 พร้อมกับประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อเชื่อมร้อยการเรียนรู้การทำงานของครูในอาเซียนและติมอร์-เลสเต
รายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ครั้งที่ 3 ปี 2562
เนการาบรูไนดารุสซาลาม นางฮาจะฮ์ บินติ ฮาจี อัสปาร์ ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล 49 และรับผิดชอบพัฒนากระบวนการเรียนการสอน นิเทศและติดตามการสอนของครูในโรงเรียน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานของครูบรูไน
ราชอาณาจักรกัมพูชา นายวิรัก ลอย ครูสอนเกรด 12 โรงเรียนมัธยมศึกษาฮุนเซน รอเลียพะเอีย ด้วยความเชื่อว่าการศึกษาทำให้นักเรียนมีชีวิตที่ดี จึงสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจด้วยการศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อปรับใช้กับแผนการสอน เลือกเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายรูดี ฮาร์ยาดีครูผู้สอนเทคโนโลยีไร้สายในระดับอาชีวศึกษา State Vocational Secondary School Cimahi จาร์วาตะวันตก ผู้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้หาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงกับการสอน พัฒนาหลักสูตร รวมถึงช่วยเพิ่มสมรรถนะครูในสาขาอาชีวศึกษา
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายไพสะนิด ปันยาสะหวัด หัวหน้าสาขาวิชาภาษาลาวและวรรณคดี และรองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ หลวงพระบาง มีผลงานด้านสารคดีเกี่ยวกับความขาดแคลนของ จังหวัดพูคูน และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศจำนวนมาก
ประเทศมาเลเซีย นางเค เอ ราซียะฮ์ ครูผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษด้านการบกพร่องทางการเรียนรู้ โรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี โกตาบารู รัฐกลันตัน พัฒนาหลักสูตรวิชาเพื่อเด็กพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาล มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 รายชื่อครูผู้รับรางวัล “Global Teacher Award” คัดเลือกโดย Varkey Foundation ประเทศอังกฤษ
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายหม่อง จ๋าย ครูสอนภาษาอังกฤษและเกษตร โรงเรียนจ่อ เม แคว้นมัณฑะเลย์ ก่อนมาประจำที่โรงเรียนจ่อ เม เคยทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายสาดัท บี มินันดัง ครูประถมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโตผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการ FaithMALU (ศรัทธาก่อให้เกิดพลังความร่วมมือ) และสร้างความตระหนักเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชน
สาธารณรัฐสิงคโปร์ นางแองจิลิน ชาน สิ่วเวิ่นหัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนแองโกไชนีส แผนกประถมศึกษาและหัวหน้าครูการสอนเด็กพิเศษ จากประสบการณ์การดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูพี่เลี้ยงในการประเมินและการใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต น.ส.ลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ ครูประถมศึกษา โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานเมืองมาตาตา ในเมืองเอเมร่า ผู้ร่วมเขียนและพัฒนาหลักสูตรระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และหลักสูตรการรู้หนังสือ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานักเรียนทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายเล ทัน เลียม ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนมัธยมชนเผ่าฮิม ลาม จังหวัดเหิ่วซาง ด้วยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกัมพูชา ฐานะยากจน ครูเล ได้ก่อตั้งชมรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระตุ้นให้ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชน
ประเทศไทย นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูนักพัฒนาผู้มีความมุ่งมั่นและเสียสละ โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จังหวัดยะลา ท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ครูสุเทพ ได้ใช้ภาษามลายูสร้างความสัมพันธ์ไทยมุสลิมและเข้าถึงคนในชุมชน อีกทั้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่และศูนย์ช่างเศรษฐกิจพอเพียง จนมีลูกศิษย์ประสบความสำเร็จจำนวนมาก
นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จังหวัดยะลา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2562 กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับรางวัลที่ทรงคุณค่าให้แก่ครู เพราะตั้งใจจะเป็นครูมาตั้งแต่เด็กจากประสบการณ์ที่ได้เริ่มสอนรุ่นน้องในโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลน เมื่อโตขึ้นก็ส่งตัวเองเรียนด้วยการรับจ้างเป็นช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างไฟ ทำให้มีความรู้งานช่าง จึงอยากนำความรู้ด้านอาชีพมาสอนให้กับเด็ก รวมถึงการสอนการรู้หนังสือ
ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้แนะนำให้ใช้ภาษาไทยย้อนยุคมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ รูปแบบการสอนจึงใช้กลุ่มคำที่เกี่ยวกับงานช่าง รวมถึงสอนตีราคาต้นทุนและค่าวัสดุอุปกรณ์ การวางแผนการทำงาน และในช่วงก่อนปิดภาคเรียนก็สำรวจเด็กใครสนใจทำงานด้านใด เพื่อพาไปสมัครกับผู้ประกอบการในช่วงปิดเทอมเพื่อฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และการได้ลงมือปฏิบัติจริง การเรียนรู้ของเด็กในพื้นที่ตนมองว่า การฝึกอาชีพที่แน่นอนให้กับเด็กบางครั้ง อาจไม่ใช่งานที่มีอยู่ในพื้นที่แล้ว แต่การให้ประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อสามารถเอาตัวเองรอดได้สำคัญที่สุด”
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้มีการมอบรางวัลแก่ครูที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ คุณากร 2 รางวัล ครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และครูขวัญศิษย์ 136 รางวัล โดยรางวัลคุณากร 2 ราย คือ
– ดาบตำรวจคณิต ช่างเงิน ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่กลองคี ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ครูหนึ่งร่างแต่หลายวิญญาณ เป็นทั้งครู หมอ ช่าง ภารโรง ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเด็กและชุมชนให้มีชีวิตที่มีคุณภาพ
– น.ส.ปุณยาพร ผิวขำ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนหนองแวงวิทยาคม ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ครูวิทยาศาสตร์ รุ่นใหม่ ดึงความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีกระตุ้นการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่การแก้ปัญหาชุมชน
ขอบคุณที่มาข่าวและภาพ :ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี