สวัสดีสมาชิกบ้านของครู ที่รักทุกท่าน ผมได้ทำการสรุปเนื้อหาที่เป็น 5 จุดเน้นสอบครูผู้ช่วย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 หลายคนที่กำลังจะสอบรับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย สำหรับน้องๆที่จบการศึกษาใหม่ยังไม่เคยสอบในสนามจริง อาจกังวลว่ากฎหมายเจ้าตัว พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 มันจะออกข้อสอบลึกแค่ไหน
จริงๆแล้ว ไม่กี่จุดเท่านั้นที่มักจะออกซ้ำๆ ถ้าคุณรู้แล้วจะได้โฟกัสได้ถูกต้องจะช่วยลดเวลาในการอ่านหนังสือ เพราะหลายคนอ่านวนไปวนมาได้แต่น้ำ หรือแม้แต่ไปติวในที่ต่างๆก็ยังไม่สามารถจับในความได้
ลองอ่านสรุปจุดเน้น 5 จุดนี้ถ้าเข้าใจและจำได้แล้วก็ไปขยายอ่านฉบับหลังจากนี้รับรองเจอข้อสอบ แทบจะยิ้มเลย หลังจากอ่านสรุปที่หน้านี้จบแล้วอย่าลืมแวะไปทำ
ข้อสอบ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ชุดที่ 1
ข้อสอบ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ชุดที่ 2
ข้อสอบ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ชุดที่ 3
ข้อสอบ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ชุดที่ 4
แต่ก่อนจะไปทำข้อสอบเชิญอ่านสรุปด้านล่างได้เลยครับ
✎ จุดเน้นที่ 1 นิยามศัพท์เฉพาะ
1) การศึกษา คือ ***ออกข้อสอบบ่อย
● กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม
2) การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ***ออกข้อสอบบ่อย
● การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา
3) การศึกษาตลอดชีวิต(Education for all) คือ **ออกข้อสอบบ่อย
● การศึกษาที่เกิดจาก การผสม ผสานระหว่าง
– การศึกษาในระบบ
– การศึกษานอกระบบ
– การศึกษาตามอัธยาศัย
4) ผู้สอน คือ
● ครู และคณาจารย์ ในสถานศึกษาระดับต่างๆ
5) ครู คือ
● บุคลากรวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
7) คณาจารย์ คือ
● บุคลากร ซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน
8) บุคลากรทางการศึกษา คือ
● ผู้บริหารสถานศึกษา
● ผู้บริหารการศึกษา
● รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ
9) ผู้บริหารสถานศึกษา คือ
● บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาแต่ละแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน
10) ผู้บริหารการศึกษา คือ
● บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป
11) สถานศึกษา คือ **ข้อสอบเก่า
● สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
✎จุดเน้นที่ 2 ความมุ่งหมายและหลักการ
1. ความมุ่งหมาย( มาตรา 6 )
● การจัดการศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจสติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
2. กระบวนการเรียนรู้ ( มาตรา 7 )
● ปลูกฝังจิตสำนึก รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิหน้าที่ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ มีความริเริ่มสร้างสรรค์
3. การจัดการศึกษาให้ยึดหลัก ดังนี้ (มาตรา 8 ) **ออกข้อสอบบ่อยครั้ง
(1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
(2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
(3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เทคนิคจำ = ตลอด-ร่วม-พัฒนาสาระ
✎จุดเน้นที่ 3 สิทธิ และหน้าที่ทางการศึกษา
1. สิทธิทางการศึกษา (มาตรา 10)
▶ สำหรับ บุคคลทั่วไป
● รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปี
● จัดอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
▶ การจัดการศึกษาสำหรับ บุคคลซึ่งมีความบกพร่อง
● ต้องจัดให้มีสิทธิ และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
▶ การศึกษาสำหรับ คนพิการ
● ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
▶ การจัดการศึกษาสำหรับ บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ
● ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น
2. บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดการศึกษา คือ
– จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล
– จัดให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ
– ส่วนการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับจัดตามความพร้อมของครอบครัว
3. บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ ดังต่อไปนี้
1) การสนับสนุนจากรัฐ ให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดู และการให้การศึกษาแก่บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล
2) เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของบุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลที่ครอบครัวจัดให้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด
3) การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
✎ จุดเน้นที่ 4 ระบบการศึกษา
1. รูปแบบการจัดการศึกษา มี 3 รูปแบบ (มาตรา 15)
1) การศึกษาในระบบ (Formal education) มีเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่ แน่นอน
2) การศึกษานอกระบบ (Non-formal education) มีเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาความ ยืดหยุ่น เนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
3) การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal education) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพความพร้อม และโอกาส
*****สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้
2. การศึกษาในระบบและนอกระบบ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
▶ การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ( ป.1-ม.6 ) ก่อนระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1) ระดับก่อนประถมศึกษา
2) ระดับประถมศึกษา
3) ระดับมัธยมศึกษา
– ประเภทสายสามัญ คือ มัธยมตอนต้น/มัธยมตอนปลาย
– ประเภทอาชีวศึกษา คือ ปวช.
▶ การศึกษาระดับอุดมศึกษา มี 2 ระดับ คือ
1) ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี(อนุปริญญา)
2) ระดับปริญญา(ป.ตรี, ป.โท, ป.เอก)
▶ การศึกษาภาคบังคับ ***ออกข้อสอบบ่อย
● การศึกษาภาคบังคับ จำนวน 9 ปี
● ให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียนใน สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ***
การศึกษาภาคบังคับ คือ ย่าง 7 ย่าง 16 จำนวน 9 ปี
การนับอายุเข้าเรียน คือ พ.ศ.ที่เข้าเรียน = ปี พ.ศ.ที่เกิด +7
✎ จุดเน้นที่ 5 การประกันคุณภาพการศึกษา
1) การประกันคุณภาพภายใน
● จัดการประกันคุณภาพภายในโดยหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา
● จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อ หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก
2) การประกันคุณภาพภายนอก
● จัดอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้ายโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
>> สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษา ที่มิใช่การจัดการอุดมศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ
บทสรุป
เนื้อหาที่มากมายในกฎหมายฉบับนี้จริงๆแล้วเวลามันออกข้อสอบมันก็ไม่ได้ถามอะไรพิสดารนะครับ ถามแต่ส่วนที่เป็นพระเอกของมันส่วนหลักๆที่สำคัญเท่านั้น หลายคนเสียเวลาไปนั่งท่องรายละเอียดย่อยจนไม่มีเวลาไปอ่านวิชาที่ต้องอ่านรายละเอียด เช่นวิชาเอก วิชาการศึกษา เป็นต้น