มาตรการการป้องกัน PM 2.5 ของกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทุกจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในส่วนภูมิภาค

พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงาน และสถานศึกษา ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วย
1.มาตรการเร่งด่วน
1.1 ศูนย์ประสานงานฯ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานและสถานศึกษาในจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อม และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด
1.2 หน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
และสถานศึกษา ติดตามสถานการณ์ และตรวจสอบคุณภาพอากาศประเทศไทยทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ เป็นประจำทุกวัน หากพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพให้พิจารณาเปิด – ปิดสถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙

1.3 หน่วยงานและสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ดำเนินการ ดังนี้
– นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สวมหน้ากากอนามัย ในกรณีที่สถานศึกษามีหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอให้ประสานกับศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติ กระทรวงศึกษาธิการ จังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุน
– หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง
– ป้องกันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) เช่น ปัญหาจากการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง การทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น
1.4 หน่วยงานและสถานศึกษา ประชาสัมพันธ์สื่อองค์ความรู้และนวัตกรรม
เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งทางสื่อออนไลน์ และเว็บไซต์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจ และนำไปป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง
1.5 หน่วยงาน สถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา เข้มงวดในการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องยนต์
ตรวจสอบรถยนต์ในสังกัด และรถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลอย่างสม่ำเสมอ
1.6 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผลิตหน้ากากอนามัย
โดยจัดส่งให้ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติ กระทรวงศึกษาธิการ …… ทุกจังหวัด เพื่อจัดสรรให้กับสถานศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ (แดง) รวมทั้งผลิตเครื่องพ่นละอองน้ำ พร้อมติดตั้งในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
1.7 สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่มีความพร้อม ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
1.8 หน่วยงานต้นสังกัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือสถานศึกษาในสังกัดอย่างเร่งด่วน
โดยบูรณาการความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรูปธรรมตามความเหมาะสม
2. มาตรการระยะยาว
2.1 หน่วยงานและสถานศึกษาลดหรือเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก และในพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อสุขภาพ
2.2 หน่วยงานและสถานศึกษารณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือวางแผนการเดินทางโดยใช้รถยนต์ร่วมกัน
2.3 หน่วยงานและสถานศึกษาส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร จิตอาสา เพื่อร่วมรณรงค์การป้องกัน เฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในสถานศึกษาตามความเหมาะสม
2.4 หน่วยงานและสถานศึกษา รณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงการเพิ่มและจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน

2.5 หน่วยงานและสถานศึกษากำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับมลพิษในสถานศึกษา เช่น อากาศ น้ำ เสียง ขยะ ฯลฯ และให้มีการประเมินเป็นประจำทุกปี เพื่อการรับรองเป็นสถานศึกษาปลอดภัย
2.6 หน่วยงานและสถานศึกษาจัดทำคู่มือการเรียนการสอนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อควรปฏิบัติในการร่วมกันลดโลกร้อน รวมทั้ง จัดทำหน่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในทุกระดับชั้น
2.7 สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี และมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกัน แก้ไข และลดปัญหา นำไปสู่ความผาสุกและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
2.8 ศูนย์ประสานงานฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการดูแลสุขภาพ
2.9 หน่วยงานปรับแผนปฏิบัติราชการประจำปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เน้นการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2.10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ
2.11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลการดำเนินการเพื่อถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563
(นายประเสริฐ บุญเรือง)
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

