สรุปเรื่อง การพัฒนาผู้เรียนม พร้อมข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน เนื้อหากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสำหรับสอบรับราชการครู วิชาการศึกษาเกณฑ์ใหม่ 2564

ในเรื่องของการพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นส่วนหนึ่งในวิชาการศึกษา ซึ่งออกข้อสอบครูผู้ช่วยบ่อยครั้ง ซึ่งเราได้สรุปย่อเนื้อหาไว้ให้ท่านผู้เตรียมสอบครูผู้ช่วย สอบผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมแทรก ข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน ที่เคยออกย้อนหลังหลายปีของทางให้เพื่อเป็นแนวข้อสอบให้รู้จุดสำคัญ หรือนำไป พัฒนาผู้เรียน ในอนาคต และนำไปสอบแข่งขันได้ต่อไป

นิยาม
การพัฒนาผู้เรียน

ความหมายตามสมรรถนะครู

การพัฒนาผู้เรียน คืออะไร

การพัฒนาผู้เรียน (Student Development) เป็นความสามารถในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาทักษะชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิต ความเป็นประชาธิปไตย ความภูมิใจในความเป็นไทย การจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียนเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพ

การพัฒนาผู้เรียน
ให้มีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้แก่

1. ความสามารถในการสื่อสาร

  • เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม
  • มีการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ
  • การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง
  • การเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม

2. ความสามารถในการคิด

  • เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ
  • เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ
  • เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

3. ความสามารถในการแก้ปัญหา

  • เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ
  • เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม

4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

  • เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
    • การเรียนรู้ด้วยตนเอง
    • การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
    • การทำงาน
    • การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล
    • การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม
    • การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม
    • การรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

  • เป็นความสามารถในการเลือก และใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้าน
    • การเรียนรู้
    • การสื่อสาร
    • การทำงาน 
    • การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ถูกต้องเหมาะสม
    • มีคุณธรรม

ประเด็นข้อสอบจริง การพัฒนาผู้เรียน

->(ข้อสอบครูสพฐ. 57) ข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน
นักศึกษาผูกคอตาย เพราะขาดทักษะด้านใด
ก. การมีทักษะความรู้
ข. ความสามารถในการสื่อสาร
ค. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
ง. ความสามารถในการแก้ปัญหา

ตอบ ค. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

->(ข้อสอบครูกทม. 59)
แดงปฏิเสธเพื่อนไม่ดื่มเหล้าแสดงว่าเขามีเป็นสมรรถนะสำคัญข้อใด
ก. ความสามารถในการสื่อสาร
ข. ความสามารถในการคิด
ค. ความสามารถในการแก้ปัญหา
ง. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

ตอบ ง. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต


กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การพัฒนาผู้เรียน
ให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนหี้คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก 8 ประการ ดังนี้

1) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย ศรัทธา ยึดมั่นในศาสนา และเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

2) ซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการยึดมั่นในความถูกต้อง ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจหมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการยึดมั่นในความถูกต้อง ประพฤติตรงตามความเป็นจริงต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ

3) มีวินัย หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการยึดมั่นในข้อตกลง กฎเกณฑ์ และระเบียบ ข้อบังคับของครอบครัว โรงเรียนและสังคม

4) ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

5) อยู่อย่างพอเพียง หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผลรอบคอบ มีคุณธรรม มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

6) มุ่งมั่นในการทำงาน หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจและรับผิดชอบในการทำหน้าที่การงานด้วยความเพียรพยายาม อดทน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

7) รักความเป็นไทย หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า ร่วมอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

8) มีจิตสาธารณะ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นๆ ชุมชน และสังคม ด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น โดยไม่หวังผลตอบแทน

ประเด็นข้อสอบ การพัฒนาผู้เรียน(บ้านของครู MR.KRON)

->(ข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน ครูกทม. 59)
ข้อใดไม่ใช่คุณลักษณะอันพึงประสงค์

ตอบ ความกตัญญู

->(ข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน ครูสพฐ. 59)
ครูพานักเรียนไปปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้อใด

ตอบ รักชาติศาสนา พระมหากษัตริย์


กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนหลางฯ

  • กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียน ได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ พัฒนาอย่างรอบด้าน
  • เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างให้เป็นผู้มีศีลธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์ เพื่อสังคมสามารถจัดการตนเองได้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 3 ลักษณะ

1. กิจกรรมแนะแนว

  • เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและ พัฒนาผู้เรียน ให้รู้จักตนเอง รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถคิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหากำหนดเป้าหมาย วางแผนชีวิตทั้งด้านการเรียน และอาชีพสามารถปรับตนได้อย่างเหมาะสม
  • นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนรวมพัฒนาผู้เรียน
หลักการกิจกรรมแนะแนว
  • เป็นกิจกรรมที่จัดให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความสนใจธรรมชาติของผู้เรียนและวิสัยทัศน์ขอสถานศึกษา ที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้ครอบคลุมทั้งทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมจนเกิดการเรียนรู้และเกิดทักษะในชีวิต โดยมีครูผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมและประสานงานความร่วมมือกับครูหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทุกๆ ฝ่ายร่วมกัน
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อให้ผู้เรียน
  1. รู้จักเข้าใจ รัก และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
  2. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียน อาชีพ การดำเนินชีวิต และสังคม
  3. เพื่อให้ผู้เรียน สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ขอบข่าย การจัดกิจกรรมแนะแนว
1) ด้านการศึกษา
  • ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนองในด้านการเรียนอย่างเต็มตามศักยภาพ รู้จักแสวงหาและใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนการเรียน หรือการศึกษาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนิสัยใฝ่เรียนรู้มีวิธีการเรียนรู้ และสามารถวางแผนการเรียนหรือการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม
2) ด้านอาชีพ
  • ให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองในทุกด้านรู้และเข้าใจโลกของงานอาชีพอย่างหลากหลายมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริตมีการเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ วางแผนเพื่อประกอบอาชีพตามที่ตนเองมีความถนัดและสนใจ
3) ด้านส่วนตัวและสังคม
  • ให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง รักและเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีเจตคติที่ดีต่อการมีชีวิตที่ดีมีคุณภาพ มีทักษะและสามารถปรับตัว ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)

->(ข้อสอบครูกรณีพิเศษ 2/58)
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน คือ

ตอบ กิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม

->(ข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน สพฐ. 57)
กิจกรรมแนะแนวมีประโยชน์ต่อครูตามข้อใด

ตอบ ช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียน

->(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
กิจกรรมใดจัดขึ้นเพื่อปรับตัวและอยู่อย่างมีความสุขของผู้เรีนน

ตอบ กิจกรรมแนะแนว

->ข้อสอบครูกรณีพิเศษ. 2/58)
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาแนะแนว
ก. เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ข. เพื่อความสนุกสนาน
ค. เพื่อการอิสระ
ง. ไม่มีข้อถูก

ตอบ ก. เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

->(ข้อสอบ การพัฒนาผู้เรียน ครูสพฐ. 57)
การแนะแนวตามลักษณะของงานเน้นงานของฝ่ายใด

ตอบ ทุกๆฝ่ายร่วมกัน

->(ข้อสอบ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูสพฐ. 57)
องค์ประกอบการแนะแนว

ตอบ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านส่วนตัวและสังคม


2.กิจกรรมนักเรียน

  • เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจโดยเน้น เรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ความมีระเบียบวินัย ความไม่เห็นแก่ตัว ความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน การรู้จักแก้ปัญหา การตัดสินใจ การมีเหตุผล การช่วยเหลือแบ่งปันกันและเอื้ออาทรสมานฉันท์
การจัดกิจกรรมนักเรียน
  1. จัดให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของผู้เรียน
  2. เน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน
  3. เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมและสดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียนตลอดจบบริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น

ประเด็นข้อสอบจริง กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

->(ข้อสอบครูสพฐ. 57)
ข้อใดไม่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนักเรียน

ตอบ จัดให้สอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน


วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมนักเรียน
  1. เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีระเบียบวินัย มีความเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี และมีความรับผิดชอบ
  2. เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการทำงานร่วมกัน รู้จักการแก้ไขปัญหา มีเหตุผล มีการตัดสินใจที่เหมาะสม ช่วยเหลือแบ่งปัน และเอื้ออาทรและสมานฉันท์
  3. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์
  4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ
ขอบข่ายกิจกรรมนักเรียน
1) กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร
  • สถานศึกษาให้ผู้เรียนเลือกกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและครบตามหลักสูตรของแต่ละกิจกรรม
2) กิจกรรมชุมนุม ชมรม
  • สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้เรียนจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย และเข้าร่วมกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจ
3) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
  • เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตน ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และท้องถิ่น ตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ ความดีงาม ความเสียสละต่อสังคม และการมีจิตสาธารณะ เช่น กิจกรรมอาสาพัฒนาต่าง ๆ กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม

ประเด็นข้อสอบ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

->(ข้อสอบครูกทม. 58)
ลูกเสือเนตรนารีเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนใด

ตอบ กิจกรรมนักเรียน


การพัฒนาด้านความสามารถ
และทักษะตามหลักสูตรแกนกลางฯ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3

  • อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ตามช่วงวัย

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

  • อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง มีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ตามช่วงวัย

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

  • แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ตามช่วงวัย

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

  • แสวงหาความรู้เพื่อการแก้ปัญหาใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ใช้ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ตามช่วงวัย

จุดเน้นคุณลักษณะ
ตามข้อเสนอแนะการปฏิรูปการศึกษา

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3

ใฝ่ดี หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความมีเหตุผล รู้จักแยกแยะถูกและผิด รักความสันติ เข้าใจและยอมรับนความแตกต่างทางความคิด

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

ใฝ่เรียนรู้ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการดำเนินชีวิตด้วยความประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เน้นวัตถุนิยม

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

อยู่อย่างพอเพียง หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการดำเนินชีวิตด้วยความประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เน้นวัตถุนิยม

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

มุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจและรับผิดชอบในการศึกษาและการทำหน้าที่การงาน ด้วยความเพียร พยายาม อดทน เพื่อให้งานสำเร็จ

ประเด็นข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน

->(ข้อสอบครูสพฐ. 59)
ม.1-3 มีคุณลักษณะตามข้อใด
ก. ใฝ่เรียนรู้
ข. อย่างอย่างพอเพียง
ค. รักความเป็นไทย
ง. มุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน

ตอบ ข. อย่างอย่างพอเพียง


ระดับการศึกษา
ตามหลักสูตรแกนกลางฯ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดระดับการศึกษาเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ระดับประถมศึกษา
(ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6)

การศึกษาระดับนี้เป็นช่วงแรกของการศึกษาภาคบังคับ มุ่งเน้นทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ทักษะการคิดพื้นฐาน การติดต่อสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม และพื้นฐานความเป็นมนุษย์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์และสมดุลทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และวัฒนธรรม โดยเน้นจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
(ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3)

เป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้สำรวจความถนัดและความสนใจของตนเอง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตน มีทักษะในการคิดวิจารณญาณ  คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา มีทักษะในการดำเนินชีวิต มีทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความดีงาม และมีความภูมิใจในความเป็นไทย ตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพหรือการศึกษาต่อ

3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
(ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6)

การศึกษาระดับนี้เน้นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะเฉพาะด้าน สนองตอบความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ  มีทักษะในการใช้วิทยาการและเทคโนโลยี ทักษะกระบวนการคิดขั้นสูง สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ มุ่งพัฒนาตนและประเทศตามบทบาทของตน สามารถเป็นผู้นำ และผู้ให้บริการชุมชนในด้านต่าง ๆ

ประเด็นข้อสอบการพัฒนาผู้เรียน

->ข้อสอบครูสพฐ. 58)
การจัดการศึกษาระดับใดมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้สำรวจความถนัดและความพอใจของตนเอง

ตอบ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

->(ข้อสอบครูกรณีพิเศษ. 60)
ระดับการศึกษาใด มุ่งเน้นทักษะพื้นฐานโดยการเรียนรู้แบบบูรณาการ

ตอบ ระดับประถมศึกษา

->(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
ระดับการศึกษาใด เน้นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน สนองตอบความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน

ตอบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย


ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ความหมายของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

  • เป็นกระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน
  • พร้อมด้วยวิธีการและเครื่องมือการทำงานที่ชัดเจนโดยมีครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินการดังกล่าว และ
  • มีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับครูที่เกี่ยวข้องหรือบุคลากรภายนอก
  • รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมจากโรงเรียนกระบวนการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

การดูแลช่วยเหลือ หมายรวมถึง?

  • การส่งเสริม การป้องกัน และการแก้ไขปัญหา
  • โดยมีวิธีการและเครื่องมือสำหรับครูที่ปรึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินงานพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และปลอดภัยจากสารเสพย์ติด

ขอบข่ายระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

  • เป็นระบบที่เน้นกระบวนการ วิธีการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน พร้อมด้วยเครื่องมือการทำงาน พร้อมด้วยเครื่องมือการทำงานที่ชัดเจน
  • โดยมีฝ่ายกิจการนักเรียน งานแนะแนว งานส่งเสริมสุขภาพ งานระเบียบวินัย งานป้องกันสารเสพติด งานระดับชั้นและคณะครูที่ปรึกษา เป็นบุคคลกรหลักในการดำเนินการส่งเสริม ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในด้านต่างๆ ภายในโรงเรียน และประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง และองค์กรภายนอก

วัตถุประสงค์ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

  1. เพื่อให้การดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน เป็นไปอย่างระบบและมีประสิทธิภาพ
  2. เพื่อให้โรงเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือชุมชน มีการทำงานร่วมกันโดยผ่านกระบวนการทำงานที่มีระบบ พร้อมด้วย เอกสาร หลักฐานการปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบหรือรับการประเมินได้

ประโยชน์ที่ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

  1. นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและตรงตามสภาพปัญหา
  2. สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี และอบอุ่น
  3. นักเรียนรู้จักตนเองและควบคุมตนเองได้
  4. นักเรียนมีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
  5. นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข

กระบวนการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

การดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนต้องอาศัยครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการปฏิบัติงานมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ คือ

  1. การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
  2. การคัดกรองนักเรียน
  3. การส่งเสริมนักเรียน
  4. การป้องกันและแก้ไขปัญหา
  5. การส่งต่อ

ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)

->(ข้อสอบครูสพฐ. 60) เรื่อง การพัฒนาผู้เรียน
ข้อใดไม่ใช่ขั้นตอนในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ตอบ ประเมินพฤติกรรม


บทบาทภาระหน้าที่ของครูที่ปรึกษา

1. ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งการส่งเสริม ป้องกันปัญหา และการช่วยเหลือ แก้ไข ปัญหาในด้านความสามารถ ด้านสุขภาพ และด้านครอบครัว หรืออื่น ๆ

2. ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามแนวทางที่กำหนด คือ

2.1 การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
  • การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ได้แก่
    1. การสัมภาษณ์นักเรียนเป็นรายบุคคล
    2. การเยี่ยมบ้านนักเรียน
    3. ข้อมูลจากระเบียนสะสม
    4. ข้อมูลจากแบบประเมินตนเอง (SDQ)
2.2 การคัดกรองนักเรียน
  • การคัดกรองนักเรียน สามารถคัดกรองนักเรียนได้จาก
    1. ระเบียนสะสม
    2. แบบประเมินตนเอง (SDQ)
    3. การสัมภาษณ์ ฯลฯ
  • การคัดกรองนักเรียน เป็นการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวนักเรียนเพื่อการจัดกลุ่มนักเรียนเป็น 4 กลุ่ม คือ
    1. กลุ่มปกติ คือ
      • นักเรียนที่ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตามเกณฑ์การคัดกรอง อยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มปกติ
    2. กลุ่มเสี่ยง คือ
      • นักเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์การคัดกรอง ซึ่งต้องให้ความช่วยเหลือป้องกันหรือแก้ไขปัญหาตามเกณฑ์ตามแต่กรณี
    3. กลุ่มมีปัญหา คือ
      • นักเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มมีปัญหาตามเกณฑ์การคัดกรอง ซึ่งต้องให้ความช่วยเหลือ ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาตามเกณฑ์ตามแต่กรณี
    4. กลุ่มพิเศษ คือ
      • นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ มีความเป็นอัจฉริยะ มีความสามารถโดดเด่นซึ่ง โรงเรียนต้องให้การส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความสามารถพิเศษถึงขั้นสูงสุด
2.3 การส่งเสริมนักเรียน
  • การส่งเสริมนักเรียนโดยใช้กิจกรรม คือ
    • กิจกรรมโฮมรูม
    • การจัดประชุมผู้ปกครองในชั้นเรียน (Classroom meeting)
2.4 การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน
  • การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้กิจกรรมดังนี้
    1. การให้การปรึกษาเบื้องต้น
    2. การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร
    3. การจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน (จับคู่ Buudy)
    4. การจัดกิจกรรมซ่อมเสริม
    5. การจัดกิจกรรมสื่อสารกับผู้ปกครอง
      • เช่น การโทรศัพท์, การเชิญมาพบ,การเยี่ยมบ้านเพื่อพบปะผู้ปกครอง เป็นต้น
2.5 การส่งต่อนักเรียน
  • การส่งต่อนักเรียน ให้บุคคลต่อไปนี้ (กรณีให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น)
    1. ครูแนะแนว
      • ขอทุนการศึกษา
      • ให้ความช่วยเหลือปัญหาที่ยากแก่การช่วยเหลือ
    2. ครูปกครอง
      • ปัญหาระเบียบวินัย
      • ปัญหาด้านความประพฤติ
    3. ครูพยาบาล
      • กรณีปัญหาด้านสุขภาพ

3. ร่วมประชุมกลุ่มปรึกษาปัญหารายกรณี

  • กรณีนักเรียนในความดูแลมีปัญหาที่ต้องให้ความช่วยเหลือ จะประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียน

4. บันทึกหลักฐานการปฏิบัติงานและประเมินผลรายงานส่งหัวหน้าระดับ

การประสานการทำงานในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ทีมระดับโรงเรียน

  • ทีมนำ คือ
    • ผู้อำนวยการ
    • รองผู้อำนวยการ
  • ทีมประสาน คือ
    • หัวหน้าคณะ
    • หัวหน้าระดับหัวหน้างาน
  • ทีมทำ คือ
    • ครูประจำชั้น
    • ครูที่ปรึกษา

ประเด็นข้อสอบจริง(บ้านของครู MR.KRON)

->(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
ใครเป็นทีมประสาน

ตอบ หัวหน้าคณะ หัวหน้าระดับหัวหน้างาน


บทสรุปเรื่อง การพัฒนาผู้เรียน

หลังจากที่อ่านสรุปเนื้อหาเรื่อง การพัฒนาผู้เรียนมาถึงจุดนี้แล้ว เชื่อว่าท่านคงมองเห็นจุดสำคัญพอสมควรหาก เจอในข้อสอบก็คงจะหนีไม่พ้นตัวอย่างที่ออกข้อสอบซ้ำๆในที่เราแทรกลงไปให้ ถึงเกณฑ์การสอบใหม่ของครูผู้ช่วย ภาค ข ในวิชาการศึกษาได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ไปแล้วแต่ว่า เรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกลบออกไปเลยซะทีเดียว แต่กลับถูกนำไปหลอมรวมกับวิชาอื่นๆในวิชาการศึกษา หรือในภาค ข หากท่านสังเกตในเกณฑ์ดีๆ จะพบว่าเรื่อง การพัฒนาผู้เรียนเราต้องรู้ก่อนเข้าสู่สนามจริงถึงจะสบายใจครับ

ถ้าหากอยากสนับสนุน
บ้านของครู MR.KRON
สามารถเลี้ยงกาแฟพวกเราได้ที่ บัญชีพร้อมเพย์ด้านล่างนี้นะครับ ตามจิตศรัทธาขอให้สอบได้ทุกท่านจ้า

พร้อมเพย์ 095-1753111

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุน เพื่อเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ต่อไป


บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

สรุปจิตวิทยาการแนะแนว

สรุปจิตวิทยาการศึกษา

การบริหารจัดการในชั้นเรียน

ติดตามช่องทางyoutube

บ้านของครู MR.KRON