
สำหรับคนที่กำลังเตรียมสอบรับราชการครู ในวิชาการศึกษาจะต้องในสอบ เรื่อง การบริหารจัดการในชั้นเรียน หรือ การจัดการชั้นเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่ออกข้อสอบในรูปแบบเดิมๆไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหามากนัก ซึ่งบ้านของครูได้ทำการสรุปความรู้เรื่องการจัดการในชั้นเรียนให้อ่านอย่างละเอียด คุณสามารถปริ้นอ่านได้เลย เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือเตรียมสอบครูผู้ช่วย เนื้อหาต่อไปนี้ใช้อ่านสอบครูผู้ช่วยได้ทุกสังกัด ครับ
หลักสำคัญในการบริหารจัดการในชั้นเรียน
การจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้สู่ความสำเร็จแบ่งได้ 6 ลักษณะ ดังนี้
1. บรรยากาศที่ท้าทาย
(Challenge)
- นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล
- บรรยากาศนี้ จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom)
- นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล
- บรรยากาศนี้ จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect)
- ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ ส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth)
- เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control)
- การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success)
- ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
- ผู้สอนควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น

ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย
(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงานเป็นการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนตามข้อใด?
ตอบ บรรยากาศที่ท้าทาย(Challenge)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
ข้อใดคือบรรยากาศที่มึอิสระ
ตอบ มีโอกาสทำผิดโดยไม่ต้องวิตกกังวล
–>(ข้อสอบครูสพฐ. 61)
ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ คือบรรยากาศในข้อใด?
ตอบ บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success)
->(ข้อสอบครูกทม. 59)
ข้อใดคือบรรยากาศที่ท้าทาย?
ตอบ บรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน
->(ครูกรณีพิเศษ. 60)
บรรยากาศแบบใดที่นักเรียนกล้าแสดงออกและรู้สึกอบอุ่น?
ตอบ บรรยากาศที่มีความอบอุ่น
หลักการจัดการชั้นเรียน
- เป็นการจัดบรรยากาศ ทางด้านกายภาพ การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา และการจัดบรรยากาศทางสังคม ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ได้มีการพัฒนาทางด้านต่อไปนี้
- ร่างกาย
- อารมณ์
- สังคม
- สติปัญญา
- จริยธรรม ให้เป็นบุคคลที่มีความสุขและมีคุณภาพของประเทศต่อไป
ประเด็นข้อสอบจริงกับ MR.KRON
(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
การจัดห้องเรียนและการจัดการเรียนรู้เพื่อจุดประสงค์ใดแก่ผู้เรียน
ก. สุขภาพ อารมรมณ์ สังคม สติปัญญา และจริยธรรม
ข. ร่างกาย ความรัก อารมณ์ และจริยธรรม
ค. ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และจริยธรรม **เฉลย
ง. ร่างกาย อารมณ์ ความรัก และจริยธรรม
การจัดบรรยากาศในห้องเรียนสามารถได้ 2 ประเภท
1. บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
บรรยากาศทางกายภาพ หรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น
การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน
– แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ทำมุมไม่เกิน 60 องศา
– ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมากทำให้เสียสุขภาพ
การจัดโต๊ะครู
– งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย
การจัดป้ายนิเทศ
– ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
– จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้
– จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้
– จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง
แนวการจัดป้ายนิเทศ
– กำหนดเนื้อหาที่จะจัด ศึกษาเนื้อหาที่จะจัดโดยละเอียด
– กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัด
– กำหนดชื่อเรื่อง
– วางแผนการจัดคล่าวๆ ไว้ในใจ ว่าจะใช้วัสดุอะไรบ้าง
– ออกแบบการจัดที่แน่นอน โดยคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่
– ลงมือจัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ
– ลงมือจัดจริงบนแผ่นป้ายตามรูปแบบที่วางไว้ อาจทดลองวางบนพื้นราบในพื้นที่เท่าแผ่นป้ายก่อน
การจัดสภาพห้องเรียน
– ต้องให้ถูกสุขลักษณะ
– มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก
– มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป
– ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ
– มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน
ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย(บ้านของครู MR.KRON)
->(ครูกรณีพิเศษ 58)
ระยะห่างระหว่างกระดานดำ กับ โต๊ะเรียนควรไม่น้อยกว่าเท่าใด?
ตอบ 3 เมตร
->(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
การจัดผลงานนักเรียนในห้องเรียนเพื่ออะไร
ตอบ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป
->(ข้อสอบครูกทม. 59)
โต๊ะครูควรจัดไว้ในตำแหน่งใดจึงจะมองเห็นนักเรียนได้ดี
ตอบ หลังห้อง
2. บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere)
บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง
– บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน
ความสำคัญของครูกับการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา
1) บุคลิกภาพ
ครูที่มีบุคลิกภาพดีจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน
2) พฤติกรรมการสอน
พฤติกรรมการสอนของครูมีบทบาทในการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่นักเรียน เช่นเดียวกับบุคลิกภาพของครูในการสอนครูต้องใช้เทคนิคและทักษะการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับนักเรียนและบทเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ เจตคติ และทักษะตามที่หลักสูตรกำหนด
3) เทคนิคการปกครองชั้นเรียน
เทคนิคหรือวิธีการที่ครูใช้ปกครองชั้นเรียนมีส่วนส่งเสริมในการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา กล่าวคือ ถ้าครูปกครองชั้นเรียนด้วยความยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตยใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับ ยินดีปฏิบัติ นักเรียนก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุข
4) ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี หมายถึง ทั้งครูและนักเรียนต่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม ครูให้ความเป็นกันเองแก่นักเรียน
3.บรรยากาศทางสังคม (Social Atmosphere)
เป็นบรรยากาศที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกรักที่จะเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย การเรียนรู้ดังกล่าว ได้แก่ การเรียนรู้ด้านความรู้ และการเรียนรู้ทางสังคม
เป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา คือ การให้ผู้เรียนมีความรู้ และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างราบรื่นมีความสุข

การจัดบรรยากาศทางสังคมที่สนับสนุนการเรียนรู้ สามารถดำเนินการได้ดังนี้
3.1 การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย
ให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกัน โดยครูต้องกำหนดให้มีอิทธิพลในห้องให้น้อยที่สุด สร้างระบบการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับผู้เรียนด้วยกัน ฝึกการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีการเลือกหัวหน้าห้องสลับเปลี่ยนกันเป็น
3.2 การสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ
การสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ โดยจัดกิจกรรมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เล่น ทำงานและเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน ครูคอยปรับปรุงการใช้ภาษา มารยาทและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถทำงานกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างดี เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม
มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำสิ่งต่างๆ ในบรรยากาศร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันกันบ้าง แต่ควรเป็นการแข่งขันกันอย่างเป็นมิตร ได้มีโอกาสได้รับผลแห่งการทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งด้านความคิด และการกระทำอันส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป
3.3 สร้างบรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันทั้งครูกับผู้เรียน
การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เริ่มด้วยการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารระหว่างกันนั้นสามารถทำได้ทั้งการใช้วาจา ภาษาท่าทาง และการปฏิบัติต่อกัน ครูมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อกันด้วยดี
3.4 สร้างบรรยากาศที่ไม่กดดัน
ลดกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขัน เพื่อให้เกิดผลแพ้ ชนะหรือการเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น ให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงออกเท่าเทียมกันและได้รับการยกย่องเหมือนกัน สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ ควรประเมินผลที่แสดงถึงพัฒนาการแห่งความเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ให้ผู้เรียนได้รู้ผลของการกระทำของตนเอง และมีการพัฒนา ตนเองโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้อื่น
ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย(บ้านของครู MR.KRON)
->(ออกจริงสพฐ. 60)
ครูมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อกันด้วยดีเป็นการสร้างบรรยากาศข้อใด
ตอบ สร้างบรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันทั้งครูกับผู้เรียน
->(ออกจริงสพฐ. 63)
การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนแบบประชาธิปไตยตรงกับข้อใด
ตอบ จัดแบบสลับกันเป็นหัวหน้า
ประเภทของครูในแบบต่างๆ
1.ครูประเภทเผด็จการ
พฤติกรรมของครู | พฤติกรรมที่ตามมาของผู้เรียน |
---|---|
ถ้าครูเข้มงวด | นักเรียนจะหงุดหงิด |
ถ้าครูหน้านิ่วคิ้วขมวด | นักเรียนจะรู้สึกเครียด |
ถ้าครูฉุนเฉียว | นักเรียนจะอึดอัด |
ถ้าครูปั้นปึ่ง | นักเรียนจะกลัว |
ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย | นักเรียนจะขาดความเคารพ |
ถ้าครูใช้น้ำเสียงดุดัน | นักเรียนจะหวาดกลัว |
สรุปครูที่มีลักษณะเผด็จการ (autocratic teacher)
ครูที่มีลักษณะเช่นนี้มี ความเชื่อว่าตนเองมีความรู้เป็นสำคัญทั้งใน ด้านการบรรยาย การแสดงความคิดเห็นและการกำหนดงานให้นักเรียนทำ นักเรียนมีหน้าที่เชื่อฟังและทำตามกฎระเรียบและงานที่ครูกำหนดให้ทำ
2.ครูประเภทปล่อยปะละเลย
พฤติกรรมของครู | พฤติกรรมที่ตามมาของผู้เรียน |
---|---|
ถ้าครูท้อถอย | นักเรียนจะท้อแท้ |
ถ้าครูเฉยเมย | นักเรียนจะเฉื่อยชา |
ถ้าครูเชื่องช้า | นักเรียนจะหงอยเหงา |
ถ้าครูใช้น้ำเสียงราบเรียบ | นักเรียนจะไม่สนใจฟัง |
ถ้าครูปล่อยปละละเลย | นักเรียนจะขาดระเบียบวินัย |
ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย | นักเรียนจะขาดความเคารพ |
สรุปครูมีลักษณะปล่อยปะละเลย (Permissive)
ครูลักษณะนี้จะมีลักษณะโอนอ่อนผ่อนตาม และไม่มีพลัง ในชั้นเรียน อาจจะมีกฎระเบียบเพียงเล็กน้อยให้นักเรียนได้ปฏิบัติ และไม่ได้ให้ความสนใจกับการที่นักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ การลงโทษของครูประเภทนี้มักจะให้อภัย ไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับนักเรียนที่ประพฤติผิดระเบียบและดูเหมือนครูจะไม่มีอำนาจมากเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนทำงานตามที่ครูกำหนด
3.ครูที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Style)
พฤติกรรมของครู | พฤติกรรมที่ตามมาของผู้เรียน |
---|---|
ถ้าครูแสดงความเป็นมิตร | นักเรียนจะอบอุ่นใจ |
ถ้าครูยิ้มแย้ม | นักเรียนจะแจ่มใส |
ถ้าครูมีอารมณ์ขัน | นักเรียนจะเรียนสนุก |
ถ้าครูกระตือรือร้น | นักเรียนจะกระปรี้กระเปร่า |
ถ้าครูมีนำเสียงนุ่มนวล | นักเรียนจะสุภาพอ่อนน้อม |
ถ้าครูแต่งตัวเรียบร้อย | นักเรียนจะเคารพ |
ถ้าครูให้ความยุติธรรม | นักเรียนจะศรัทธา |
ถ้าครูให้ความเมตตาปรานี | นักเรียนจะมีจิตใจอ่อนโยน |
สรุปครูที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Style)
ครูที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่มีลักษณะของความเป็นเผด็จการหรือปล่อยปะละเลย มักจะมีความมั่นคง มีเหตุผลเกี่ยวกับความคาดหวังของตนที่มีต่อการเรียนรู้และการแสดงพฤติกรรมของเด็ก
ครูที่เป็นประชาธิปไตยจะใช้การอภิปรายร่วมกับนักเรียนและให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบของชั้นเรียนรวมทั้งกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืนกฎ อีกทั้งอาจร่วมกับนักเรียนในการทบทวนกฎระเบียบของชั้นเรียนได้อยู่เสมอหากมีความจำเป็นเพื่อให้กฎระเบียบเหล่านั้นมีวามเหมาะสมต่อการนำไปปฏิบัติ
ครูที่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นผู้ที่พร้อมที่จะตัดสินใจในปัญหาใดๆและยอมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียน ผลของการที่ครูเป็นประชาธิปไตยจะเป็นการสร้างพลังแห่งความเชื่อมั่นและความรู้สึกของการเป็นเจ้าของชั้นเรียนให้กับนักเรียนในทำนองเดียวกันก็จะทำให้ครูรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนนั้นๆ
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าครูมืออาชีพจึงควรเป็นครูที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเพราะจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างบุคลิกภาพของการมีความมั่นใจในตนเองให้แก่นักเรียน รวมทั้งเพื่อจะได้มีส่วนในการปลูกฝังเจตคติและความเป็นประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนอีกด้วย
สรุปประเภทของครูครูที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภท
เป็นบทบาทในการเป็นผู้นำของครู เพราะฉะนั้นในยุคการศึกษาปัจจุบัน ครูที่สมควรเป็นผู้นำคือ ครูที่มีลักษณะประชาธิปไตย เพราะจะเป็นการสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความมั่นใจในตัวเองและเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ระบบประชาธิปไตยของชาติด้วย
ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย(บ้านของครู MR.KRON)
->(ข้อสอบครูสพฐ. 60)
ครูทำให้เด็กนักเรียนเชื่อมั่น คือการสร้างบรรยากาศแบบใด
ตอบ บรรยากาศทางจิตวิทยา
ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี
1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีสีสันที่น่าดู สบายตา อากาศถ่ายเทได้ดี ถูกสุขลักษณะ
2. จัดโต๊ะเก้าอี้และสิ่งที่ที่อยู่ในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน และกิจกรรม
3. ให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีอิสรเสรีภาพ และมีวินัยในการดูแลตนเอง
4. ใช้ประโยชน์ชั้นเรียนให้คุ้มค่า ครูอาจดัดแปลงให้เป็นห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์และอื่นๆ
5. จัดเตรียมชั้นเรียนให้มีความพร้อมต่อการสอนในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานกลุ่ม การสาธิต
6. สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ให้ความเป็นกันเองกับผู้เรียน
เทคนิคการปกครองชั้นเรียนของครู
1.หลักประชาธิปไตย
ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียน เท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาค ให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น
2.หลักความยุติธรรม
ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะ เคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรม สั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน
3.หลักพรหมวิหาร4
– หลักพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
– ถ้าครูทุกคนยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการปกครองชั้นเรียน นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความเคารพรักศรัทธาครู และมีความสุขในการเรียนแล้วยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้นักเรียนด้วย
4.หลักความใกล้ชิด
การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ความสนใจให้ความใกล้ชิดกับนักเรียนเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาวิธีการแสดงความสนใจนักเรียนทำได้หลายวิธี
ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย(บ้านของครู MR.KRON)
->(ครูกรณีพิเศษ 58)
การปกครองชั้นเรียน ครูควรใช้หลักธรรมใด
ตอบ พรหมวิหาร 4
–>(ครูกรณีพิเศษ 1/59)
ข้อใดเป็นหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองชั้นเรียน
ตอบ พรหมวิหาร 4
->(ออกจริงสพฐ. 57)
พฤติกรรมการสอนของครูที่ส่งเสริมบรรยากาศในชั้นเรียนได้ดี คือ
ตอบ ยึดหลักประชาธิปไตย
->(ออกจริงสพฐ. 61)
การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ความสนใจแสดงว่าครูยึดหลักใด
ตอบ หลักความใกล้ชิด
->(ออกจริงสพฐ. 63)
ครูให้ความเท่าเทียมและเอาใจใส่นักเรียน แสดงว่าครูยึดหลักใด
ตอบ หลักความใกล้ชิดและหลักความยุติธรรม
รูปแบบการจัดชั้นเรียน
การจัดชั้นเรียนถ้าแบ่งตามวิธีการสอนจะได้ 2 แบบ ดังนี้
1.ชั้นเรียนแบบธรรมดา
การจัดชั้นเรียนแบบธรรมดาจะมีครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้จากครูการจัดชั้นเรียนแบบนี้จะมีโต๊ะครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีโต๊ะเรียนวางเรียงกันเป็นแถวโดยหันหน้าเข้าหาครู แบบคลาสรูม
บทบาทของครูสำหรับการจัดชั้นเรียนแบบธรรมดา
ครูจะเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่างๆ ใช้วิธีการสอนแบบป้อนความรู้ให้แก่นักเรียนโดยการบรรยาย และอธิบายให้นักเรียนฝังอยู่ตลอดเวลา ครูจะเป็นผู้แสดงกิจกรรมต่างๆเอง แม้กระทั่งการทดลองอย่างง่ายๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ยิบจับ หรือแตะต้องสื่อการสอนที่ครูนำมาแสดง
บทบาทของผู้เรียนสำหรับการจัดชั้นเรียนแบบธรรมดา
นักเรียนเป็นผู้ฟังครู ไม่มีโอกาสได้พูด หรือทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อค้นหาคำตอบใดๆ สื่อการสอนที่ใช้ส่วนมาก ได้แก่ ชอล์ก กระดานดำ และแบบเรียน
2.ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม
จุดเด่น
เป็นชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้เทคนิควิธีการแบบสอนใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียงแถวหันหน้าเข้าหาครู เช่น จัดเป็นรูปตัวที ตัวยู วงกลม เป็นต้น
ลักษณะการจัดชั้นเรียน
การจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมนี้ โต๊ะครูไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าชั้น อาจเคลื่อนย้ายไปตามมุมต่างๆ การจัดโต๊ะนักเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู
บทบาทของครูและนักเรียน
– ครูจะเป็นผู้กำกับและแนะแนวนักเรียนเป็นผู้แสดงบทบาท
– ครูจะพูดน้อยลง ให้นักเรียนได้คิด ได้ถาม ได้แก้ปัญหา และได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง
– นักเรียนอาจจะเรียนด้วยตนเองจากสื่อประสม
– เป็นการจัดชั้นเรียนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนได้คิดค้นคว้า วิเคราะห์วิจารณ์ และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน จนสามารถเรียนรู้ได้ตนเอง
ข้อสอบจริงครูผู้ช่วย(บ้านของครู MR.KRON)
->(ครูกรณีพิเศษ 58)
การจัดชั้นเรียนควรจัดเป็นอย่างไร
ตอบ จัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมหรือจัดตามความเหมาะสมของกิจกรรมการเรียนการสอนและหลักสูตร
หลัก 7 ประการของการสร้างวินัยเชิงบวก
1) เคารพศักดิ์ศรีของเด็ก
2) พยายามพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ การมีวินัยในตนเอง และบุคลิกลักษณะที่ดี
3) พยายามให้เด็กมีส่วนร่วมมากที่สุด
4) คำนึกถึงความต้องการทางพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็ก
5) คำนึงถึงแรงจูงใจและโลกทัศน์ของเด็ก
6) พยายามให้เกิดความยุติธรรม เท่าเทียมกัน และไม่เลือกปฏิบัติ
7) เสริมสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในกลุ่ม
บรรยากาศของห้องเรียนที่ดี
บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนต้องเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง ยอมรับและส่งเสริมความสำคัญของผู้เรียน ให้ความรูสึกเป็นอิสระและได้ใช้ความสามารถของผู้เรียนมาเป็นประโยชนในกระบวนการจัดการเรียนการสอน
ท่าทีและพฤติกรรมของครูจะตองแสดงใหเห็นว่า มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อผู้เรียน ยกย่อง ยอมรับนับถือ ให้เกียรติและสนใจปัญหาของผู้เรียนอย่างจริงใจ เป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน
แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการตอบสนองความต้องการของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว
ลักษณะของบรรยากาศห้องเรียนที่ดี
1) มีความยืดหยุ่น มีกัลยาณมิตร
2) ไม่ตึงเครียด
3) นักเรียนรู้สึกอิสระและมีความสุขในการเรียนรู้
4) มีการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
บทสรุป
เนื้อหาเรื่อง การบริหารจัดการในชั้นเรียนสำหรับเกณฑ์ใหม่ครูผู้ช่วย จะอยู่ในวิชาชีพครูที่เป็นส่วนของวิชาการศึกษา แต่สำหรับการสอบครูกรณีพิเศษยังใช้เกณฑ์เดิม เราได้สรุปและรวบรวมกลั่นกรองความรู้ส่วนนี้ ครบถ้วนแน่นอน และที่เหลือขึ้นอยู่กับท่านจะนำความรู้นี้ไปลงสนามจริง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความการบริหารจัดการในชั้นเรียนนี้ จะช่วยเป็นส่วนเล็กๆที่ส่งให้ท่านได้ประสบความสำเร็จในการสอบดั้งใจหวัง
ถ้าหากอยากสนับสนุน
บ้านของครู MR.KRON
สามารถเลี้ยงกาแฟพวกเราได้ที่ พร้อมเพย์ด้านล่างนี้นะครับ
พร้อมเพย์ 095-1753111

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุน เพื่อเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการในชั้นเรียน
บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน
ข้อสอบการบริหารจัดการในชั้นเรียน