เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2018 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เป็นการประเมินที่มีมาตรฐานในระดับโลก สามารถนำผลการประเมินมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทยได้ ซึ่งจากผลการประเมิน PISA 2018 ทำให้เกิดความมั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินนโยบายการจัดการศึกษามาถูกทางแล้ว โดยจะนำข้อมูลและสถิติต่าง ๆ มาวิเคราะห์ ปรับหลักสูตร และพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การประเมิน PISA 2021 มีผลการประเมินในระดับสูงขึ้น จึงขอให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษา มีความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทย โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตลอดจนร่วมกันขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพื้นฐานในประเทศให้หมดไป
ขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจร่วมกันถึงความสำเร็จของการพัฒนาเด็กไทย พร้อมกับก้าวไปข้างหน้า ในการพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งเพื่อปรับปรุงและลดจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอน Coding ให้กับนักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะที่สำคัญ 5 ประการ คือ การอ่าน การเขียน ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงคณิตศาสตร์ และทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการประเมินผลของ PISA ที่วัดผลการจัดการศึกษาโดยนักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง อันจะส่งผลต่อการเตรียมคนไทยให้มีความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นกำลังคนคุณภาพ สามารถพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ผลการประเมิน PISA 2018 ในครั้งนี้ พบว่าสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ปูพื้นฐานและสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาเอกชน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในวันนี้ ในขณะเดียวกัน จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเอกชนทุกประเภท พบว่าบางแห่งยังมีความขาดแคลนในหลายด้าน ทั้งสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนและการฝึกอบรมครู แต่โรงเรียนหลายแห่งยังคงมุ่งมั่นจัดการศึกษา และที่น่าชื่นชมคือ สามารถดำเนินการได้ดีบนความขาดแคลน จึงขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเอกชน พร้อมจะพยายามผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนอย่างมีคุณภาพ เติบโตเป็นกำลังคนที่มีศักยภาพ แข่งขันได้ และมีความเชื่อมั่นว่า ในการประเมิน PISA ครั้งต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อได้นำผลการประเมินครั้งนี้ไปพัฒนาปรับปรุง ก็จะทำให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาคะแนนเฉลี่ยไปในทางที่ดีขึ้น
ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวว่า การประเมิน PISA ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษา ในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทำการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ทุก ๆ 3 ปี เน้นการประเมินสมรรถนะเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) สำหรับรอบการประเมิน PISA 2018 เน้นการประเมินด้านการอ่าน มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน สำหรับประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัด

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในมณฑลปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง รวมทั้งสาธารณรัฐสิงคโปร์ มีคะแนนทั้งสามด้านสูงกว่าทุกประเทศ โดยผลการประเมินของนักเรียนไทยปรากฏว่ามีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน), คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมิน PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักเรียนกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก (Top 5) และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งนี้ คะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA 2015
นอกจากนี้ หากพิจารณาความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนสูง (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90) กับนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของไทย ในภาพรวมพบว่า มีช่องว่างของคะแนนประมาณ 200 คะแนน โดยแนวโน้มความแตกต่างในด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ยังคงที่ ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนกว้างขึ้น เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะที่นักเรียนกลุ่มต่ำมีคะแนนเฉลี่ยลดลง
ซึ่งมีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการ คือ ระบบการศึกษาไทยส่วนหนึ่งมีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ หากสามารถสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง นอกจากนี้ นักเรียนไทยกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อน คือ “การอ่าน” ซึ่งการประเมิน PISA 2018 เป็นการประเมินที่เน้นการอ่านข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่านก็มีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน
